สถาปัตย์ มข. คว้า 7 รางวัลประกวดวิทยานิพนธ์ทางสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2025

 

  สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) จัดโครงการโครงการ THESIS OF THE YEAR AWARD 2025 หรือ TOY arch 2025 เป็นการประกวดวิทยานิพนธ์ดีเด่นด้านสถาปัตยกรรมประจำปี เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้นักศึกษาสร้างสรรค์ผลงานวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพ  เป็นเวทีแสดงออกและเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทั่วประเทศ  มีผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์ และนักศึกษาสถาปัตยกรรมจากทั่วประเทศร่วมงานจำนวนมาก

         สำหรับ THESIS OF THE YEAR AWARD หรือ TOY arch 2025 นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถคว้ารางวัลเกียรติยศมาครอง ทั้งสิ้น 7 รางวัล จากการประกวดวิทยานิพนธ์ดีเด่นระดับชาติ ซึ่งทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลงานที่ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมการแนะแนวจากอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทำให้นักศึกษาสามารถพัฒนาวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับอย่างต่อเนื่อง

          7 รางวัลที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้คว้ารางวัลมาครอง จากการประกวดครั้งสำคัญนี้ แบ่งเป็นรางวัลชมเชยในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก (Architecture) และในระดับภูมิภาคอีสาน 6 รางวัล ได้แก่

          ศูนย์ศึกษาป่ากับคน บนพื้นที่จิตวิญญาณ ผลงานของนายกฤตยชญ์ เฮ้าปาน ภายใต้การแนะนำของ รศ.กุลศรี ตั้งสกุล ได้รับรางวัลชมเชยในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก พร้อมกับรางวัลที่ 2 ในระดับภูมิภาคอีสาน ด้วยแนวคิดที่ล้ำลึกในการนำเอาความเชื่อและวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณมาเป็นหัวใจหลักในการออกแบบ

         กฤตยชญ์ เฮ้าปาน กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ    “ผลงานชิ้นนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ขาดหายไป โดยนำเอาความเชื่อและวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณที่คนในชุมชนมีต่อป่ามาเป็นหัวใจหลักในการออกแบบ สถาปัตยกรรมในโครงการนี้จึงถูกตีความจากพิธีกรรมดั้งเดิมให้กลายเป็นเสมือน “พิธีกรรมทางกายภาพ” ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้ผู้คนได้สัมผัสและเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งผ่านประสบการณ์ทางพื้นที่ แสงเงา และพื้นผิว เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และส่งเสริมให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน”

      ขณะที่ผลงาน “สถาปัตยกรรมมอสส์” ของนางสาวพรรวษา น้อยธรรมราช ภายใต้การแนะนำของ ผศ.ดร.จันทนีย์ จิรัณธนัฐ ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในระดับภูมิภาคอีสาน ด้วยนวัตกรรมการใช้มอสส์ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

      นางสาวพรรวษา น้อยธรรมราช  เผยว่า “ผลงานดังกล่าวนำเสนอแนวคิดการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและภาวะโลกร้อนในเขตเมืองอย่างยั่งยืน โดยใช้ “มอสส์” พืชมหัศจรรย์ที่มีศักยภาพสูงในการดักจับฝุ่น PM2.5 ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสารพิษต่างๆ อีกทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิในเมืองและปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban Heat Island Effect)  โครงการนี้ออกแบบพื้นที่สถาปัตยกรรมที่ผสมผสานมอสส์เข้ากับโครงสร้างอาคาร เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวแนวใหม่ที่ช่วยฟอกอากาศและเพิ่มคุณภาพชีวิตคนเมือง เป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้ผู้คนได้เห็นถึงคุณค่าของมอสส์ในฐานะเครื่องมือทางธรรมชาติที่ช่วยสร้างสรรค์เมืองให้น่าอยู่และยั่งยืน พร้อมมอบประสบการณ์การเรียนรู้และผ่อนคลายจากความวุ่นวายในเมืองใหญ่โครงการนี้เป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้ผู้คนได้เห็นถึงคุณค่าของมอสส์ในฐานะเครื่องมือทางธรรมชาติที่ช่วยสร้างสรรค์เมืองให้น่าอยู่และยั่งยืน พร้อมมอบประสบการณ์การเรียนรู้และผ่อนคลายจากความวุ่นวายในเมืองใหญ่”

            และรางวัลที่ 3 ตกเป็นของ “ศูนย์การเรียนรู้และการวิจัยการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าไม้” โดยนางสาวณัฐธิดา สอนสกุล ภายใต้การแนะนำของอาจารย์อานัติ วัฒเนสก์ ซึ่งสะท้อนถึงความใส่ใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์

              นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยอีก 3 รางวัล ได้แก่ “พื้นที่ศึกษาการอยู่ร่วมกันของชุมชนในแนวตั้ง” โดยนางสาวปัทมาภรณ์ อุเทพ ภายใต้การแนะนำของ รศ.ดร.กฤตภัทร ถาปาลบุตร “ศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม” โดยนางสาวพรรณวิภา อารีเอื้อ ภายใต้การแนะนำของ รศ.ดร.นพดล ตั้งสกุล และ “ศูนย์การเรียนรู้และส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ” โดยนางสาวนภัสวรรณ ชนากานต์กุล ภายใต้การแนะนำของ ผศ.ดร.ฐานันดร์ ศรีธงชัย

               รศ.ดร.กฤตภัทร ถาปาลบุตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลงานที่ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมการแนะแนวจากอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทำให้นักศึกษาสามารถพัฒนาวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษารุ่นใหม่และยกระดับมาตรฐานการศึกษาสถาปัตยกรรมของประเทศไทยสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืนต่อไป

           ความสำเร็จครั้งนี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เท่านั้น แต่ยังเป็นการยืนยันถึงบทบาทสำคัญของสถาบันการศึกษาในภูมิภาคอีสานที่สามารถแข่งขันและสร้างผลงานที่มีคุณภาพระดับประเทศได้อย่างน่าประทับใจ

ภาพรางวัล สาขาสถาปัตยกรรมหลัก (Architecture) ในระดับภูมิภาคอีสาน