สถาปัตย์-เทคนิคร้อยเอ็ดร่วมสานฝันสายอาชีวะสู่เส้นทางอุดมศึกษา

     เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ณ ห้องปฏิบัติการเขียนแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  อ.ดร.สักการ ราศีสุทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ตัวแทนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณาจารย์ และนักศึกษา ร่วมให้การต้อนรับคณาจารย์และนักศึกษาแผนกวิชาช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด ที่ได้เดินทางมาศึกษาดูงาน ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
          โดยในช่วงแรก อ.ดร.สักการ ราศีสุทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ได้กล่าวต้อนรับในฐานะตัวแทนจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และบรรยายสรุปในภาพรวมการจัดการเรียนการสอนของคณะฯให้กับ คณาจารย์และนักศึกษาได้รับฟัง จากนั้น ผศ.สุรกานต์ รวยสูงเนิน ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรมได้บรรยายแนะนำในส่วนของหลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม และต่อด้วยการแนะนำหลักสูตรสาขาสถาปัตยกรรม โดย อ.รุ่งจิต จารุพงษ์ทวิช ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรสถาปัตยกรรม ร่วมกับ ผศ.สิทธา กองสาสนะ  ในช่วงท้าย เป็นการเล่าประสบการณ์จากรุ่นพี่ที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคจังหวัดต่าง ๆ ที่ได้เข้าศึกษาต่อ ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มข. ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ นักศึกษาที่กำลังศึกษาต่อในสายอาชีวะศึกษาให้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากขึ้น
 อ.ชนินทร์ สุขประชา

อ.ชนินทร์ สุขประชา

         อ.ชนินทร์ สุขประชา อาจารย์ประจำแผนกวิชาช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด ซึ่งได้นำนักเรียนจากวิทยาลัยฯ มาศึกษาดูงานเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี ได้กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า “ความคาดหวังในการจัดกิจกรรมนี้ ก็คือการนำเด็กนศ.ในชั้น ปชว. 1 – 3 มาศึกษาดูงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้มีกำลังใจในการทำงาน ได้มีโอกาสเห็นงานของรุ่นพี่ แล้วนำไปพัฒนางานของตนเอง  และอยากให้เด็ก ๆ รู้ว่านอกจากการเรียนจบแล้วไปทำงาน ก็ยังสามารถที่จะเลือกเรียนต่อในระดับปริญญาตรีด้วย  ก็เป็นการสร้างทางเลือกให้เค้ามากขึ้นด้วย  ในการนำเด็กนศ.มาที่ดูงานในหลายปีที่ผ่านมา เด็กจะมีความคาดหวังมากขึ้นในการเรียนต่อระดับปริญญาตรีถึงร้อยละ 50  ส่วนที่เหลือจะเป็นไปเรียนต่อ ปวส. บ้าง หรือไปทำงาน ซึ่งนับว่าแตกต่างจากเมื่อก่อนที่เด็กที่มีความคิดที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาตรีนี่เป็น 0 % เลยก็ว่าได้ แต่พอได้มาดูงานที่นี่เด็กเค้ารู้ว่าเค้าเรียนต่อได้ แต่ต้องขยันมากกว่าเดิม แล้วส่วนมากเด็ก ๆ มักจะคิดว่าจบแล้วไปทำงาน เพราะถ้าเรียนสายอาชีวะส่วนมากก็จะจบแล้วไปเป็นสายปฏิบัติการมากกว่า   และการที่ได้นำเด็กมาศึกษาดูงานที่นี่ผมรู้สึกพอใจมาก  เพราะทางคณะฯต้อนรับพวกเราด้วยดีเสมอมา เราได้ข้อมูลกลับไปเยอะแยะ ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารกิจกรรมต่าง ๆ ของทางคณะ   ส่วนของพวกเราเองเราก็พยายามสนับสนุนเด็ก ๆ ของเราให้เข้าร่วมกิจกรรมเต็มที่ครับ”
           ทางด้านนายศิรัสพล พฤกษาเดชากุล นักศึกษาปวช. 2 กล่าว
นายศิรัสพล พฤกษาเดชากุล

นายศิรัสพล พฤกษาเดชากุล

ว่า “ผมมาดูงานที่นี่เป็นรอบที่ 2 แล้ว ครั้งแรกมางาน Open House เมื่อต้นปี 2555 กับรุ่นพี่ ผมชอบที่นี่นะ ตอนมาดูงานครั้งแรกเห็นพี่ปี 4 เค้าตัด Mass กับ Model เป็นสนามกีฬากับโรงหนัง มาดูแล้วผมชอบมาก ผมก็เลยขออาจารย์ว่าถ้ามี Open House อีกให้อาจารย์พาพวกผมมาดูงานอีก   การได้มาดูงานทำให้พวกผมได้ความรู้ ได้ทักษะ รู้ว่าเวลาเค้าตัด Mass ทำยังไง พออาจารย์สั่ง Sketch Design ผมก็ได้ตัด Mass ด้วย อยากให้อาจารย์พามาดูหลาย ๆ รอบ ผมชอบคณะนี้ มีต้นไม้เยอะดี ตอนที่พี่ผมมารายงานตัวเข้าเรียนที่มข. ผมก็ตามมาด้วย แล้วก็แวะมาที่คณะฯเหมือนกันครับ  แล้วถ้าเป็นไปได้ผมก็จะมาสอบเรียนต่อที่นี่  เมื่อปีที่แล้วอาจารย์ที่คณะฯไปบรรยายที่วิทยาลัยตอนปฐมนิเทศก็พอได้ความรู้บ้างก็เลยตั้งใจว่าจะมาลองสอบดู แม่ผมบอกว่าสอบได้ก็ได้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ผมก็อยากได้ประสบการณ์  เห็นพี่ปลาพี่แบ้งค์ พี่เค้าเป็นศิษย์เก่าจากวิทยาลัยสอบติดก็อยากเป็นเหมือนพี่ พี่เค้าบอกว่าเราต้องพยายามฝึกฝีมือให้มาก และถ้าปิดเทอมผมก็จะไปติวเพิ่ม นอกจากนั้น ผมก็เช็คข้อมูลที่เวปคณะสถาปัตย์ มข. เพื่ออัพเดทข้อมูลต่าง ๆ ด้วย”
             กิจกรรมการนำนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด นอกจากเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนและการประกอบอาชีพในอนาคตให้กับนักศึกษาแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ อีกหลาย ๆ คนมีความฝันที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเกิดความมุ่งมั่นที่จะสานฝันของตนให้ประสบความสำเร็จ และยังเป็นทางเลือกใหม่ให้กับนักศึกษาในสายอาชีวะศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มข. ได้สร้างทางเลือกให้กับนศ.ในสายอาชีวะศึกษาด้วยการเปิดรับช้างเผือกที่มาจากสายอาชีวะศึกษาเข้าเรียนโดยวิธีพิเศษ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีเกรดเฉลี่ย 5 ภาคการศึกษาไม่น้อยกว่า 3.00 ขึ้นไป และต้องสอบผ่านความถนัดทางสถาปัตยกรรม และจากดำเนินการในปีแรกได้รับนักศึกษาจากสายอาชีวะ  7 คน นอกจากนั้น นักเรียนอาชีวะก็ยังมีทางเลือกอื่น ๆ อีก เช่น โครงการช้างเผือกที่ต้องแข่งขันกับนักเรียนสายสามัญ  การสอบจากส่วนกลาง และโควต้าของมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย