3 ผลงานอจ.และเจ้าหน้าที่สถาปัตย์ถูกคัดให้เป็น 20 อัตลักษณ์สร้างสรรค์

อัตลักษณ์ไทย ที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ในสังคมไทย เป็นสินทรัพย์ทางปัญญาที่ทรงคุณค่า และเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  (สพว.) โดย ศูนย์พัฒนาเพิ่มมูลค่าผลผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์  ได้รับมอบหมายจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการสร้างองค์ความรู้และบุคลากรด้านการออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างอัตลักษณ์และประยุกต์ใช้เป็นองค์ประกอบงานสร้างสรรค์ พร้อมการพัฒนาบุคลากรผู้ให้บริการด้านการออกแบบในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐในการเสริมสร้างศักยภาพ ยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SME
สำหรับวิธีการดำเนินการของโครงการนี้ คือการดึงนักออกแบบผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการออกแบบ-สร้างสรรค์ ด้านการตลาด ด้านวางแผนกลยุทธ์ ตลอดจนด้านการผลิต ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ประสบความสำเร็จ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลงตัว ทั้งในด้านการสร้างสรรค์และความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์  ในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น   ทั้งนี้ โครงการได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน 2555 และปรากฏว่าผลงานออกแบบของอาจารย์และเจ้าหน้าที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มข.  มีผลงานที่ถูกคัดเลือกให้เป็น 3 ใน 20  อัตลักษณ์สร้างสรรค์ ที่ได้รับการคัดสรรจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนำไปเผยแพร่และจัดแสดงสู่สาธารณะชน
อาจารย์และเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ท่านนี้ ประกอบด้วย อ.อภิญญา อาษาราช  กับผลงาน Mindstic Knot ผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือสำหรับผู้หญิงวัยทำงาน    อ.ขวัญหทัย ธาดา กับผลงาน Pha Tam Image  ผลิตภัณฑ์แต่งกายแฟชั่นคอลเล็กชั่นใหม่ และคุณจักริน เงินทอง กับผลงาน Vodabox กล่องไม้พระเครื่องอเนกประสงค์
คุณจักริน เงินทอง กับผลงาน Vodabox กล่องไม้พระเครื่องอเนกประสงค์  เล่าว่า “กล่องไม้พระเครื่องอเนกประสงค์ เป็นผลงานออกแบบให้กับผู้ประกอบการ คือ คุณประเชิญ ม่วงประกาย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับนำวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ เช่น ขี้เลื่อย เศษไม้ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ ทั้งของใช้ ของตกแต่งต่างๆ  การออกแบบได้แรงบันดาลใจได้มาจากเชี่ยนหมากอีสาน และฮูปแต้มอีสาน   และรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะได้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของคนอีสาน ที่ถ่ายทอดจากอัตลักษณ์ที่เป็นภูมิปัญญาอย่างแท้จริง ทั้งด้านการเพิ่มมูลค่า ประโยชน์ในด้านต่างๆ ในการคัดเลือกครั้งนี้จะทำให้ตัวแทนในแต่ละภาค เป็นผู้ที่ให้คำปรึกษา และทำงานบริการด้านการออกแบบจากอัตลักษณ์อีสานให้แก่ชุมชนได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ให้ยกระดับผลิตภัณฑ์ของคนอีสานให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป”
อ.ขวัญหทัย ธาดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตย์ มข.  เจ้าของผลงาน  Pha Tam Image  ผลิตภัณฑ์แต่งกายแฟชั่นคอลเล็กชั่นใหม่  ได้ดำเนินการออกแบบร่วมกับผู้ประกอบเจ้าของร้านขายของที่ระลึก”ระหว่าง( )ทาง” คุณอุดมรัตน์ ดีเอง   “ร้าน ระหว่าง( )ทาง เป็นร้านที่ จ.อุบลราธานี ทำให้การออกแบบผลงานตนได้นำเเรงบันดาลใจจากอัตลักษณ์ในเเถบภาคอีสาน ที่เฉพาะเจาะจงลงไปเพื่อพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และมีความสอดคล้องกับพื้นที่ของร้าน คือ ศิลปะถ้ำ : ผาเเต้ม     รู้สึกภูมิใจที่จะได้เป็นตัวเเทนของภาค เเละยิ่งดีใจขึ้นไปอีกที่สามารถนำเรื่องของศิลปะวัฒนธรรมเเละภูมิปัญญาของชาวอีสานมาสืบทอด ประยุกต์ให้เกิดมูลค่า เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มีคุณค่า สามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากมาย การเป็นตัวเเทนภาคก็เหมือนเป็นตัวเเทนสื่อสารเสน่ห์ความเป็นอีสานให้คนทั่วไปได้ชื่นชมอีกด้วย” อ.ขวัญหทัยกล่าว

และนักออกแบบท่านสุดท้าย คือ อ.อภิญญา อาษาราช  เจ้าของผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือสำหรับผู้หญิงวัยทำงาน  Mindstic Knot ซึ่งเป็นผลงานออกแบบร่วมกับผู้ประกอบการทำชื่อคุณชุติมา เป็นเจ้าของแบรนด์กระเป๋า PRIM ซึ่งเป็นลักษณะ ได้แรงบันดาลใจมาจากเชี่ยนหมากอีสาน ซึ่งลวดลาย และรูปทรงของเชี่ยนหมาก และการใช้งานของเชี่ยนหมาก สามารถมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบกระเป๋าได้ในเรื่องของการจัดวางพื้นที่ภายในกระเป๋า  ก็รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการ เพราะโครงการนี้ได้ให้ทั้งความรู้และประสบการณ์  ประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ ได้ผลงานที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของอีสาน คือ เชี่ยนหมากมาใช้ในการออกแบบ ได้นำมาออกแบบให้มีความทันสมัย ประยุกต์ใช้งานได้ และก็อยากให้มีโครงการนี้ต่อไป เพื่อที่จะได้พัฒนานักออกแบบให้นำอัตลักษณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นตัวเองนำมาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณ์ในท้องถิ่นหรือในประเทศได้”

ความสำเร็จของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ทั้งสามท่าน นับเป็นก้าวสำคัญในการจุดประกายการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบที่สามารถเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาของทางคณะ รวมทั้งนักออกแบบรุ่นใหม่ ให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ให้กับประเทศต่อไป

ที่มา : หนังสือรวมผลงานสร้างสรรค์จากอัตลักษณ์ไทยของนักออกแบบทั่วประเทศ จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนากลางและขนาดย่อม (สพว.)
ข่าว : พิมพ์ชนก ศรีสุริยะมาตย์
ภาพ  : จักริน เงินทอง อ.ขวัญหทัย ธาดา