นศ.สถาปัตย์คว้ารางวัลชนะเลิศ “บ้านอยู่สบาย อยู่กับภัยน้ำท่วม”

ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ รางวัลที่ 4 และ  รางวัลแนวความคิดที่สมควรได้รับการเผยแพร่ รวม 3 รางวัล จากการประกวด “บ้านอยู่สบาย อยู่กับภัยน้ำท่วม” ซึ่งจัดโดย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย

จากเหตุการณ์วิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมและปรับตัว เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงจัดประกวดแบบบ้าน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมนำไปประยุกต์ใช้ก่อสร้างบ้านพักอาศัย ตลอดจนสามารถพัฒนาแนวทางการอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างมีความเหมาะสม และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะความคิด และการสร้างสรรค์นวัตกรรมการอยู่ร่วมกับธรรมชาติของนิสิตและ/หรือนักศึกษา  ซึ่งการประกวดแบบครั้งนี้ ผลงานหมายเลข 41 ซึ่งเป็นของ นายจิตติ จตพรภิรมย์ นางสาวแก้วบัวเกื้อ รัตนจันทร์  และนางสาวนฤมล ไพศาลพงษ์ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้คว้ารางวัลชนะเลิศ รับเงินทุนการศึกษา 50,000 บาท มาครองได้สำเร็จ

ทีมงานได้เล่าถึงที่มาของการทำงานในครั้งนี้ว่า “เราได้ใช้แนวคิดผสมผสานการอยู่ร่วมกับน้ำแบบไทยสมัยก่อน โดยใช้บ้านยกใต้ถุน+บ้านเรือนแพ แล้วมาจัดผังแบบสมัยใหม่ให้เข้าวิถีชีวิตปัจจุบัน แต่ยังอยู่ร่วมกับน้ำได้ บวกกับแนวคิดด้านนวัตกรรมการแก้ปัญหาหลังจากที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน โดยคิดระบบนำน้ำท่วมขังมาเป็นน้ำใช้ ระบบการกลั่นตัวของไอน้ำแล้วได้น้ำดื่ม และสุดท้ายการผลิดกระแสไฟฟ้า จากพลังงานน้ำ  แล้วintegraก ทุกระบบเข้าด้วยกันกับสถาปัตยกรรม   การประกวดแบบครั้งนี้พวกเราคาดหวัง  เพราะปีสุดท้ายแล้วและเป็นงานที่ตั้งใจทำกันจริง ๆ    การเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ เป็นแบบประกวดที่อาจารย์ให้เป็น Assignment  แล้วคิดว่าน่าสนใจ เพราะเน้นเรื่องนวัตกรรมการอยู่ร่วมกับน้ำท่วม  ซึ่งเราต้องทำงานส่งอาจารย์ก่อนแล้วค่อยส่งประกวด และได้เอาไฟล์วีดิโอนำเสนองานไปให้อาจารย์ตรวจและให้ข้อเสนอแนะก่อนขึ้นนำเสนอจริง   อาจารย์ก็ให้คำแนะนำเรื่องระบบของนวัตกรรมที่นำมาใช้ และวัสดุ ทำให้ต้องไปทำการบ้านมาเพิ่มเพื่อหาคำตอบ ต่อท่านคณะกรรมการ   ส่วนการทำงานนั้นพวกเราก็เริ่มจากช่วยกันคิดแนวคิดหลักก่อน แล้วแบ่งกันทำงานในด้านต่างๆ เช่น 1) แนวคิดการ integrade ระบบ + ลงรายละเอียด 2) คิด Planning และ วัสดุ ประเมินราคา 3) ทำ 3D และพรีเซนงาน เป็นต้น มีการแบ่งงานกันก็จริง แต่ทุกครั้งจะต้องผ่านการปรึกษากันในกลุ่มก่อนตลอด มีการคุยและถามความคิดเห็นกันในกลุ่มเสมอเพื่อการพัฒนาแบบในมุมมองที่กว้างขึ้น

          นายจิตติ จตพรภิรมย์ กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า “สำหรับน้องๆ ที่คิดว่าอยากส่งแบบประกวด ผมคิดว่าให้ลองส่งๆไปครับให้เป็นประสบการณ์ ซึ่งอย่าไปคิดว่าส่งงานอาจารย์แล้วงานได้คะแนนน้อยเลยไม่อยากส่งประกวด เพราะคิดว่าคงยากที่จะติด ซึ่งกลุ่มผมก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้คะแนนน้อย(6/10 เอง) แต่พวกเราเชื่อมั่นในงานของพวกเรา เชื่อมั่นในแนวความคิดของพวกเรา ก็เลยอยากลองดู และสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ ได้รางวัลที่ 1 มาครับ จึงขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ที่ตั้งใจทำงาน และมีความมั่นใจในงานของตนเอง ส่งไปเถอะครับ ได้/ไม่ได้ ก็เป็นประสบการณ์ และสุดท้ายเราจะได้ไม่ต้องเสียใจทีหลังครับ

นอกจากผลงานของทั้งสามคนที่ได้คว้ารางวัลที่ 1 มาครองไว้ได้แล้ว ยังมีอีก 2 ทีมที่คว้ารางวัลจากการออกแบบในครั้งนี้มาครองอีก 2 รางวัล ก็คือ  

รางวัลแนวความคิดยอดเยี่ยมอันดับ 4 จำนวน 1 รางวัล รับทุนการศึกษา 15,000 บาท

          ผลงานหมายเลขที่ 33

  1. นายลาภวัต รัตนขจรจิตต์
  2. นางสาวมนันยา โสภกุล

รางวัลแนวความคิดที่สมควรได้รับการเผยแพร่ รับทุนการศึกษา 5,000 บาท   

          ผลงานหมายเลขที่ 40

             1. นายถนัดวุฒิ วนสุทธิกุล

             2. นายเผ่าราช บุตราช

             3. นายอลงกรณ์ อำนวยสวัสดิ์